วิชาศิลปะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาซึ่งสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาเรียกอย่างเป็นทางการตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานว่า “กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ” ประกอบด้วยหมวดวิชา 3 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ ดนตรี และนาฏศิลป์
โดยจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมระยะเวลาการเรียน 12 ปี และมีการกำหนดระยะเวลาประเมินคุณภาพของผู้เรียนตามที่คาดหวังไว้ 4 ช่วง ประกอบด้วยช่วงหลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
สาระสำคัญของการเรียนรายวิชา
การเรียนวิชาศิลปะเริ่มจากบทเรียนง่าย ๆ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไล่ไปจนถึงระดับก้าวหน้าในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยส่วนหนึ่งของบทเรียนที่สำคัญแต่ละหมวดวิชา มีดังนี้
1. ทัศนศิลป์
ฝึกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ดินสอ ดินเหนียว ดินน้ำมัน และพู่กัน เป็นต้น
เรียนรู้องค์ประกอบต่าง ๆ ของภาพ เช่น รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว ดุลภาพ ความลึก และแสงเงา เป็นต้น
วาดภาพการ์ตูนและภาพตามจินตนาการพร้อมกับฝึกระบายสี ทั้งสีน้ำ สีเทียน สีโปสเตอร์ และสีจากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น
ออกแบบและจัดองค์ประกอบของงานศิลป์
ฝึกผลิตผลงานด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ
2. ดนตรี
เรียนรู้แหล่งกำเนิดของเสียง เสียงดัง เสียงเบา แยกเสียงเครื่องดนตรีแต่ละประเภท และเรียนรู้จังหวะช้า-เร็ว
เรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรี เคาะจังหวะ และฝึกใช้เสียงร้องเพลง
ร่วมทำกิจกรรมดนตรีโดยเล่นเครื่องดนตรี ร้องเพลงไทยหรือสากล หรือเต้นรำตามจังหวะดนตรี
เรียนรู้โน้ตดนตรีไทยและสากล
เรียนรู้ประเภทของวงดนตรีไทย และวงดนตรีจากวัฒนธรรมต่าง ๆ
เรียนรู้การใช้และรักษาเครื่องดนตรี
3. นาฏศิลป์
เรียนรู้การเคลื่อนไหว การแสดงท่าทางแทนคำพูด ถ่ายทอดลีลาหรืออารมณ์ และการแสดงท่าทางประกอบจังหวะดนตรี
แสดงนาฏศิลป์เป็นคู่และเป็นหมู่
ร่วมเขียนบทละครกับสมาชิกของกลุ่มการละคร
เรียนรู้ศัพท์การละคร และนำไปใช้ในการแสดง
ฝึกคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาการแสดง
วิเคราะห์รวมทั้งวิจารณ์การแสดง ตามหลักนาฏศิลป์และการละคร
ฝึกวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของเครื่องแต่งกาย ฉาก อุปกรณ์ แสง สี เสียง และสถานที่ที่มีผลต่อการแสดง